thaifern

เที่ยวป่าล่าอาลาบาด่าง

โดย ไข่


ผมเป็นลูกแม่น้ำปิง  ตั้งแต่จำความได้ผมก็อาบแม่น้ำปิงมาตั้งแต่เด็กๆ 30 กว่าปีที่ผ่านมา  ผมยังจำภาพเวลาที่อาบน้ำตอนเย็นที่แพสำหรับใช้อาบน้ำ หลาย ๆ คนในละแวกนั้นไปอาบน้ำกับที่นั่น  ตรงไปที่อาบน้ำมองไปทางทิศเหนือที่แม่น้ำไหลมา  จะมองเห็นภูเขาลูกหนึ่ง พ่อบอกว่าชื่อ เขากระร่อน ผมไม่รู้ที่มาว่าชื่อได้มาอย่างไร  ผมมองมันมานับสิบปีจินตนาการไปต่าง ๆ นานา  ตามประสาเด็ก  คิดไว้ในใจว่าสักวันจะขึ้นไปที่นั่นให้ได้  ผมชอบภูเขา  ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากอะไร  ทุกครั้งที่ได้เห็นมันจะรู้สึกสดชื่น ดีใจ  อยากมีบ้านริมลำธารใกล้ภูเขา  ผมสานฝันได้สำเร็จก็อายุปูนนี้เข้าไปแล้ว  ถึงแม้ว่าผมจะได้มีโอกาสได้อยู่ใกล้ป่าแล้ว  แต่ผมก็ยังอยากไปดูป่าที่อื่นอีกมันเป็นกิเลสไปซะแล้ว  คิดอยู่ตลอดเวลาว่า ป่าทุกป่า ต้นไม้ทุกต้นมีความงามที่ต่างกัน  ผมเล่าเรื่องเดินป่าให้พี่พจน์หนึ่งในทีมงานไทเฟินให้แกฟังบ่อยๆ  จนพี่แกอยากจะไปเดินแต่ด้วยเวลามันน้อยนิด  ผมก็พลัดผ่อนแกเรื่อยมา  จนในที่สุดแกยื่นไม้ตายบอกว่าถ้าผมไม่พาเดินก็ให้คนของผมพาไปแทน แล้วก็จะงอนผมด้วย เจอไม้นี้เข้าไปผมก็ต้องยอมความจริงแล้วลึก ๆ  มันเป็นความต้องการของผมเองด้วย ตัดสินใจลางานประจำเผื่อการเดินทางทั้งไป-กลับ

วันที่ 15 มิ.ย. 52  ออกเดินทางจากเมืองอันวุ่นวาย รถยนต์ 2 คน  ผมกับเจ้าต้น  พี่พจน์กับเก่ง พี่โต้งติดงานสำคัญของขาย  น้าเก๋เบี้ยวซะงั้น  ส่วนเจ้าเติ้ลติดธุระเรื่องลูก(แต่บางคนบอกว่ากลัวเมีย)

เช้าตรู่ของวันที่ 16 มิ.ย. 52  ถึงสวนไทเฟิน พักผ่อนตามอัธยาศัยเจ้าต้นนอนยาวเพราะอดนอนมาทั้งคืน  เก่งเดินดูเฟินในโรงเรือน ส่วนพี่พจน์ลืมแก่ซ่าส์ว่าใครเพื่อน  ขอยืมมอเตอร์ไซด์เจ้าชาติไปขับเล่น เล่นไปซะนานจนพวกเราพาลคิดกันไปว่าคงไปหลงความงามของสาวกะเหรี่ยงเข้าให้แล้ว
ตอนกลางคืนเราคุยเรื่องเส้นทางที่จะไปเดินกันพรุ่งนี้  ที่เจ้าชาติวางแผนไว้ 2 ทางคือ แผนแรก  ต้องขับรถเคลื่อนสี่ล้อเข้าไป  ต้องขับลุยในลำห้วยหลายครั้งจนถึงจุดมุ่งหมาย คือ ป่าดิบชื้น  แต่ถ้าไม่มีรถก็เดินประมาณ 2-3 ชั่วโมง  จึงจะถึงป่าที่ว่า  แผนที่ 2 คือ เดินเท้าจากบ้านผาคอก  ประมาณ 2 ก.ม.  ก็จะถึงป่าอีกแห่งหนึ่ง  ปรึกษากันแล้วด้วยสังขารและเวลาที่มีน้อยนิด  เราควรเลือกเส้นทางที่ 2  ฮ่า ๆ  ๆ ๆ

วันที่ 17 มิ.ย. 52  หกโมงเช้าทุกคนตื่นขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียง  กาแฟอุ่น ๆ กับบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ รอบ ๆ ตัว  รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าอย่างบอกไม่ถูก  กินเข้าเช้าบ้านชาติ  ขับรถไปจอดริมห้วยแม่กะแซ  ตรวจสอบความพร้อมของใช้จำเป็น  ยาทากันยุงขาดไม่ได้เพราะใข้ป่าที่นี้แรง  ในทริปนี้ เรายกให้พี่พจน์เป็นผู้มีอุปกรณ์ดีเด่น  เป้สะพายกล้องกันน้ำอย่างดี  กระติกน้ำคาดเอว มีดเดินป่าพร้อมปอกสวยหรู  ส่วนผมกางเกงหลวมอาศัยเชือกผูกเต็นท์ของพี่พจน์มาผูก  มีดก็แวะซื้อข้างทาง  ปลอกมีดก็ใช้ท่อ PVC จากในสวนมาลนไฟทุบให้แบน ๆ  เจาะรูเอาเชือกผูกไว้กับหูกางเกงแม้จะโดนพี่พจน์ล้อ  ผมก็เถียงข้าง ๆ คู ๆ ว่า  เป็นการใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (ว่าไปนั่นเลย)

เริ่มเดินผ่านไร่ของชาวบ้าน  ผ่านสะพานไม้ที่สร้างแบบง่าย ๆ ด้วยจำนวนงบประมาณที่ค่อนข้างสูงเกินจริง  บางช่วงต้องเดินข้ามห้วยด้วยสะพานที่เป็นต้นไม้ต้นเดียวพาดไว้ไม่มีราวจับ  บางช่วงก็เป็นแค่ไม้ไผ่พาดไว้ 2 อัน  เดินผ่านไร่และป่าโปร่งด้วยระยะทางที่ไกลพอสมควรเห็น  เฟินที่เจอก็จะมีพวก  กนกนารี ย่านลิเภา  กูดแต้ม  กูดชิงช้า  บางช่วงก็พอจะเห็น เฟินชายผ้าปีกผีเสื้อ และ  Polypodium ptilorhizon ดูเผินๆ คล้ายพวกเฟินใบขาม แต่มีขนสีขาวปกคลุม เหง้าเลื้อยมีขนสีน้ำตาลปกคลุม เกาะอยู่ตามต้นไม้ บางครั้งก็เห็นขึ้นอาศัยอยู่กับชายผ้าสีดาปีกผีเสื้อ
หลังจากที่ข้ามสะพานไม้ไผ่สองท่อนช่วงสุดท้าย เราก็เจอลำธารเล็ก ๆ ที่เป็นสาขาของห้วยแม่กระแซ  ป่ารกทึบ ไม่มีทางเดินที่เป็นเรื่องราว  ต้องเดินในลำธารน้ำเล็ก ๆ  อย่างเดี่ยว  ช่วงนี้ตามริมน้ำพบพวก  กีบแรด, กูดกวาง.และพวกกูดหูควากตามริมธาร  ช่วงที่มีแสงแดดส่องมาก ๆ ก็มีพวกกนกนารีขึ้นประปราย  เฟินที่พบมากอีกชนิดหนึ่งคือ  ผักกูด  ที่เป็นยอดเฟินอาหารยอดนิยมของคนกรุง  แต่แสนธรรมดาของคนบ้านป่า ลำธารเล็ก ๆ  น้ำไม่สูงมาก  พวกเราเดินลุยไปเรื่อย ๆ  แบบสบาย ๆ  แต่ก็ต้องระมัดระวังเจ้าจะเหยียบหินลื่น ๆ ในลำธารเหมือนกัน  บางช่วงเป็นน้ำตกชั้นเล็ก ๆ  ก็ต้องป่ายปีนกันบ้าง  ช่วงนี้ไม่หนักหนาอะไร  ยิ่งเดินลึกเข้าไปตามโขดหินหรือก้อนหินริมน้ำก็จะมีพวก Microsorum Membra กับพวก Asplenium drepanophyllum ขึ้นให้เห็นอยู่ทั่วไปจนเป็นเรื่องธรรมดา  พี่พจน์ดูจะตื่นตาตื่นใจกว่าใครเพราะเป็นการเดินป่าครั้งแรกของแก  พวกเราเดินกันอย่างไม่รีบร้อน  พี่พจน์ก็เก็บภาพไปเรื่อย ๆ อากาศในหุบเขาเย็นสบายไม่มีใครบ่นเรื่องอากาศร้อน  พี่พจน์ที่อุปกรณ์ครบครันก็ยังไม่บ่นว่าหนัก  พวกเราเดินลุยน้ำกันไปเรื่อย ๆ สองข้างลำธารภูเขาสูง ด้านเป็นป่าที่โดนถางทำไร่ซะส่วนใหญ่  เดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ตามตลิ่งข้างลำธารเริ่มเห็นกูดก้านแดง  ที่อยู่ในสกุล  Pteris  มาขึ้นเรื่อย ๆ  เฟินชนิดนี้มีก้านสีแดงตัดกับใบสีเขียวสวยงามมาก  พบกูดก้านแดงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมมีความหวังลึกๆ ว่า  เราอาจจะพบเฟินอาลาบาด่างกันบ้างไม่ได้ติดตามหลักวิชาการอะไรหรอกครับ  แต่คิดว่ากูดก้านแดงกับอาลาบาด่างมีลักษณะที่คล้ายกัน  แต่อาลาบาด่างมีสีใบที่อ่อนกว่าก้านสีแดง  ตรงกลางใบเป็นสีขาว  เป็นเฟินที่มีความงามมาก  เมื่อเจอกูดก้านแดงก็อาจจะพบอาลาบาด่างก็เท่าเป็นการคิดตามประสาคนที่ไม่มีความรู้อะไร

และเหตุการณ์สำคัญของการเดินป่าทริปนี้ก็เกิดขึ้น  เป็นช่วงที่เจ้าชาติเก่ง ต้น เดินนำหน้า  ตรงนั้นเป็นช่วงโค้งหักศอกของลำธารและตลิ่งค่อนข้างสูง  เจ้าชาติตะโกนเสียงดังว่าเจอเฟินอาลาบาด่าง  มันกับเก่งโดดกันตัวลอย  ดีใจกับสุด ๆ เจ้าชาติคงดีใจเพราะว่าหลังจากเคยพบในธรรมชาติที่ห่างจากจุดนี้ไม่น้อยกว่า 70 กม.  ก็คงไม่คิดว่าจะพบที่นี้ด้วย  พวกเราถ่ายภาพกันอย่างไม่นับ  เฟินอาลาบาด่างพวกนี้ขึ้นปะปนกับ กูดก้านแดง อย่างที่เราคิดกันไว้จริง ๆ  หลังจากรื่นรมกันเสร็จก็ออกเดินกันต่อช่วงนี้  ถึงแม้ว่าน้ำในลำธารจะไม่ลึกแต่ตลิ่งค่อนข้างสูงมีกิ่งไม้และเถาวัลย์ ขวงทางเป็นระยะต้องใช้มีดตัดออกไปบ้างพอให้เดินสะดวก  น้ำตกชั้นเล็ก ๆ เริ่มพบกันบ่อยขึ้นต้องออกแรงขึ้นกันมาก-น้อย บ้างแล้วแต่ลักษณะของชั้นน้ำตก  สองฝั่งของลำธารเป็นพวกกล้วยป่ากับไผ่บงนี้ชาวบ้านนิยมนำไปทำเป็นเสาบ้าน  เพราะมีความใหญ่และหนามาก  เฟินที่พบตามโขดหินก็เหมือนเดิมเป็นพวก  กูดกวาง  กูดก้านแดง  อาลาบาด่าง  ตามโขดหินก็เป็นพวก  Microsorum Membra กับพวก  Asplenium treemaidenhair ที่ขึ้นอยู่ตามต้นไม้  พวกเราพูดเหมือนกันว่าพบอาลาบาต้นเล็ก ๆ  ก็อยากจะเจอต้นใหญ่ ๆ  กันบ้าง ประมาณว่าไม่รู้จักพอ พวกเราเดินไปก็สรวลเสเฮฮาไปตามเรื่อง เพื่อกลบเกลื่อนความเหนื่อย  ถ้าเดินป่าแบบเครียดมันก็จะไม่สนุก  มีอยู่ช่วงหนึ่งพี่พจน์พูดออกมาว่าไม่เห็นมีทากดูดเลือดเลย  ไม่รู้ว่าอยากเจอหรือว่าไง  เก่งก็เลยห้ามว่าเข้าป่าถ้าพูดถึงสิ่งน่ากลัว  งานนี้ผมว่าหากมันล้อพี่พจน์มากกว่า  มันคงไม่อยากดูดเลือดคนแก่หนังเหนียว  5555555 

พวกเราเดินลึกกันไปเรื่อย ๆ  สภาพป่ายังเหมือนเดิมของชาวบ้านสองข้างเป็นไผ่บงกับกล้วยป่า  ที่รากจะมีน้ำที่รากจะมีน้ำหยดตลอดเวลา เค้าบอกกันว่า  รากกล้วยจะเป็นรากของพืชที่อุ้มน้ำได้ดีมาก  ผมว่าถ้าประเทศไทยรณรงค์ให้ปลูกกล้วยป่าริมลำธารที่เป็นป่าต้นน้ำ  หรือลำธารที่เหือดแห้งก็น่าจะดีเพราะรากกล้วยจะเก็บน้ำไว้และค่อย ๆ  หยดออกมาถ้าปลูกกันเป็นพัน-หมื่น-แสน-ล้าน-หลาย ๆ ล้าน ต้น  ถ้าคิดเป็นปริมาณน้ำ แสง ก็คงไม่ใช่น้อย ถ้าชาติหน้ามีวาสนาได้เป็น รมว. เกษตรจะทำโครงการนี้ครับ  ปลูกกล้วยอะไรก็ได้ที่กินได้  ขายได้  ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการปลูก  ดูแลรักษาอะไรเลย  ถึงเวลาลูกแก่ก็ตัดไปกินไปขายได้อีก  ให้ชาวบ้านเก็บผลประโยชน์ได้ทุกคน และเค้าก็จะช่วยกันดูแลกันเองถ้าเริ่มกันวันนี้แต่ตอนนี้ อีกไม่นานลำธารที่เคยเหือดแห้งก็อาจจะมีน้ำไหล  เหมือนเดิมก็ได้  เรื่องนี้อาจเป็นความคิดแบบเบาปัญญาของผมเองก็ได้เน๊อะ
พวกเราเดินสูงขึ้นเรื่อย ๆ  มีการป่ายปีนมีอยู่ตลอดเวลา  เส้นทาง รกทึบมากขึ้น  มีดที่เตรียมไปมีความจำเป็นต้องใช้ ฝ่าฟันเถาวัลย์และกิ่งไม้มากขึ้น ตลอดเส้นทางมีทั้งปีนและก็มุด ผมพบเฟินอีกหลายชนิดแต่ไม่รู้จักชื่อ ช่วงไหนที่ถึงทางแยกของลำธารก็ต้องหยุดรอปรึกษากันว่าจะไปทางไหน ข้าวเจ้าและข้าวเหนียวที่ตกถึงท้องเมื่อตอนเช้า  คงจะเหลือน้อยเต็มที

 

ต่อหน้า 2