"เนื้อหาในหน้านี้นำมาจากหนังสือเฟินของ ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม ซึ่งผู้จัดทำได้เรียบเรียงขึ้นคร่าว ๆ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น"
"เฟิน" หรือชาวบ้านเรียกว่า "ผักกูด" เกิดขึ้นในโลกใบนี้มาหลายร้อยล้านปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่โลกของเราเริ่มมีสิ่งมีชีวิตชื้นแฉะไปด้วยน้ำ และหนองบึง จากยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน เฟินบางชนิดก็ได้สูญพันธุ์ หรือกลายพันธุ์ไปตามกาลเวลา ที่เหลืออยู่ และที่สำรวจพบมีเป็นหมื่น ๆ ชนิด และก็มีไม่น้อยที่ยังอยู่ในป่าเขาที่เร้นลับ ยังสำรวจไม่พบมีอีกมากมายเช่นกัน ในเมื่อเฟินมีมากมายเช่นนี้จึงมีการแบ่งเฟินออกได้หลายลักษณะ อาจแบ่งตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น กลุ่มของเฟินดิน เฟินอากาศ เฟินน้ำ เป็นต้น แบ่งตามสภาพภูมิอากาศ หรือแบ่งตามวงศ์ (Family) ซึ่งดูจะเป็นสากลมากที่สุด
เฟินเป็นพืชที่ไม่มีดอก ไม่มีผล ไม่มีเมล็ดสำหรับแพร่พันธุ์ แต่เฟินมีสปอร์ ซึ่งเกิดที่ใต้ใบ เป็นสิ่งที่ใช่ในการสืบพันธุ์ ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของวงจรชีวิตเฟิน ลักษณะที่พิเศษของเฟินคือการเกิดสปอร์สำหรับสืบพันธุ์ที่ใต้ใบแล้ว ยอดอ่อนของเฟินจะขดเป็นลักษณะ"รูปก้นหอย" (หอยโข่งนะครับ ไม่ใช่หอยแครง) จากนั้นก็จะค่อย ๆ คลี่ก้าน และใบออกมา ประโยชน์ของเฟินนอกจากเป็นปลูกไม้ประดับแล้ว ยอดอ่อนของเฟินบางชนิดเช่น กูดห้วย ยังสามารถนำมาเป็นอาหารได้ด้วย บางประเทศทำยอดอ่อนของเฟินมาทำเป็นอาหารว่าง นอกจากนั้นยังนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้อีก เช่น กูดใบเล็กใช้เป็นยาห้ามเลือด หรือเหง้าแก่ของเฟินนาคราชใช้เป็นยาแก้พิษงู แมลงกัดต่อยได้ และยังทำมาทำเป็นเครื่องรางของขลังเพื่อป้องกันสัตว์มีพิษได้ด้วย (ไม่เชื่ออย่าลบหลู่) ในภาคใต้ชาวบ้านนำเถาของเฟินย่านลิเภามาทำเป็นเครื่องจัดสานได้หลายอย่าง